อ่าน 4,371
การออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทยของกระทรวงการคลัง
สปป.ลาว ครั้งที่ 4
นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ แถลงว่า ตามที่กระทรวงการคลังให้อนุญาตกระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว (สปป.ลาว) สามารถออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย (Baht Bond) ประจำรอบที่ 2/2558 ได้ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 นั้น ในการนี้ สปป.ลาว ได้ดำเนินการออก Baht Bond สำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ออก : กระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วงเงินที่ออก/รุ่นอายุ : 12,000 ล้านบาท (ออกได้ครบตามวงเงินที่ให้อนุญาต)
- อายุ 3 ปี : 1,000 ล้านบาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 3.56 ต่อปี)
- อายุ 5 ปี : 5,000 ล้านบาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 4.32 ต่อปี)
- อายุ 10 ปี : 6,000 ล้านบาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 5.00 ต่อปี)
อันดับความน่าเชื่อถือ : BBB+ (TRIS Rating)
ผลสำเร็จจากการออก Baht Bond ของ สปป.ลาว
1. การออก Baht Bond ของ สปป.ลาว ในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 3 ปี (2556 – 2558) ส่งผลให้ สปป.ลาว มียอดคงค้าง Baht Bond ทั้งสิ้น 21,590 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25 ของยอดคงค้าง Baht Bond ในตลาดตราสารหนี้ไทย) โดย สปป.ลาว นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยมีความยินดีที่ได้เป็นประเทศแรกที่สนับสนุนให้ สปป.ลาว สามารถระดมทุนนอกประเทศได้สำเร็จ
2. การออก Baht Bond ของ สปป.ลาว ในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ สปป.ลาว ได้ดำเนินการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Local Scale (ระดับ BBB+) ทั้งนี้ เพื่อขยายฐานนักลงทุนและส่งผลให้
2.1) มีความต้องการจองซื้อสูงถึงกว่า 18,000 ล้านบาท หรือมากกว่าวงเงินที่เสนอขายถึง 1.5 เท่า
2.2) มีการออก Baht Bond รุ่นอายุยาวถึง 10 ปีได้ ซึ่งนับเป็นการออก Baht Bond รุ่นอายุยาวที่สุด ที่ออกโดยนิติบุคคลจากกลุ่มประเทศ ASEAN
2.3) มีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน (บริษัทประกันชีวิตฯ ธนาคารฯ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการฯ) สูงถึงร้อยละ 96 ของวงเงินที่ออก
สรุปได้ว่า การออก Baht Bond ของ สปป.ลาว ในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนา Baht Bond ของ สปป.ลาว อย่างก้าวกระโดด ซึ่งหากในอนาคต สปป.ลาว มีการออกอย่างสม่ำเสมอ มีรุ่นอายุที่กระจายตัว และมีฐานนักลงทุนที่หลากหลาย จะทำให้ Baht Bond ของ สปป.ลาว เป็น Benchmark ของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีความสนใจในการออก Baht Bond ได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและราชอาณาจักรภูฏานได้แสดงความสนใจและ อยู่ระหว่างการสำรวจความเป็นไปได้ในการออก Baht Bond ในประเทศไทย
นอกจากนี้ การให้อนุญาตออก Baht Bond ของ สปป.ลาว ดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังในการยกระดับให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค และเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันของประเทศในภูมิภาคประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน (Inclusive Growth)
คำค้นหา