เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานฯ :: จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website หน่วยงานยุทธศาสตร์

โรคพิษสุนัขบ้า

ผู้เขียน:  เจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลระบบ จาก สำนักงานจังหวัด
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฏาคม พ.ศ. 2560 เวลา 15:08:00 น.

 อ่าน 1,331
โรคพิษสุนัขบ้า
หรือโรคกลัวน้ำ หรือในภาษาอีสานเรียกว่าโรคหมาว้อ เป็นโรคติดต่อร้ายแรง สาเหตุเกิดจากถูกกัด หรือข่วน โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู เป็นต้น ที่เป็นโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อ เรบีส์ ไวรัส ซึ่งจะออกมากับน้ำลายของสัตว์ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นระยะ ๆ ในประเทศไทยมีสุนัขเป็นตัวนำโรคหลักร้อยละ ๙๕ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองลงมาเป็นแมว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นโรคนี้ได้ สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะขับเชื้อออกมากับน้ำลายก่อนที่สุนัขจะมีอาการของโรค ๑ - ๗ วัน และขณะมีอาการจนกระทั่งสุนัขตาย ระยะเวลาตั้งแต่ไวรัสถูกขับออกมากับน้ำลายจนถึงสุนัขตายรวมแล้วจะไม่เกิน ๑๐ วัน

การติดต่อ
โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าบาดแผล หรือผิวหนังที่มีรอยถลอก หรือถูกเลียเยื่อเมือก ปาก จมูก ตา การติดต่อวิธีอื่นในธรรมชาติเป็นไปได้ยาก เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางปลายประสาทเดินทางเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง เชื้อจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากที่สมอง ทำให้เกิดสมองหรือไขสันหลังอักเสบ จะปรากฏอาการหลังจากได้รับเชื้อตั้งแต่ ๗ วัน จนถึงหลายปี แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง ๑ - ๖ เดือน ผู้ได้รับเชื้อปล่อยไว้จนเกิดอาการของโรคแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย

อาการของโรคในคน
มักเป็นการอักเสบสมองและเยื่อสมอง ในระยะ ๒ - ๓ วันแรก ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้  คันหรือปวดบริเวณรอยที่ถูกกัด ทั้ง ๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว ต่อมาจะหงุดหงิด กระสับกระส่าย  ตื่นเต้น ไวต่อสิ่งเร้ารอบกาย ไม่ชอบแสง ลม มีน้ำลายไหล กล้ามเนื้อคอกระตุก เกร็งขณะพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ   ทำให้เกิดอาการ “กลัวน้ำ” ต่อมาจะเริ่มเพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ  ชัก  บางรายอาจเป็นอัมพาต แขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด

อาการของโรคในสุนัขและแมวมี ๒ แบบ แบ่งอาการเป็น ๒ ระยะ
  1. ระยะแรกสุนัข / แมวจะมีนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม
  2. ระยะที่ ๒ เป็นระยะตื่นเต้นจะกระวนกระวาย  ดุร้าย ไล่กัดคนและสัตว์อื่นที่ขวางหน้า แม้กระทั่งกรงหรือโซ่ที่ล่ามไว้ กลืนอาหารและน้ำผิดไป การเคี้ยวอาหารผิดปกติ
  3. ระยะอัมพาตจะมีน้ำลายไหล ขากรรไกรห้อย บางตัวทำท่าเหมือนอะไรติดคอ เสียงเห่าหอนผิดไป เป็นอัมพาต ล้มลงตาย
  4. ระยะเวลาแสดงอาการไม่เกิน ๑๐ วัน สุนัขบ้าแบบดุร้ายจะแสดงอาการระยะที่ ๒ ยาวนาน สุนัขบ้าแบบซึมจะแสดงอาการระยะที่ ๒ สั้นมาก ทำให้สังเกตยากต้องระวังและนึกถึงโรคนี้ในกรณีสุนัขที่แสดงอาการ โรคพิษสุนัขบ้าแบบซึมไว้ด้วย
การรักษา ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาหาย แต่สามารถป้องกันได้ ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานไม่เกิน ๑ สัปดาห์ และเสียชีวิต เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ และระบบทางเดินหายใจการรักษาทำได้เพียง ประคับประคอง และรักษาตามอาการเท่าที่จะทำได้ วิธีการดูแลผู้ป่วย ทำได้ดังนี้
  1. แยกผู้ป่วยให้ปราศจากสิ่งเร้าต่าง ๆ ปราศจากเสียงรบกวนแต่ไม่จำเป็นต้องปิดไฟ
  2. ให้สารอาหารแบบน้ำเข้าทางเส้นเลือด เนื่องจากผู้ป่วยมักจะกินอาหารไม่ได้
  3. ผู้ให้การดูแล ควรใส่เสื้อผ้ามิดชิด ใส่แว่นตา ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้ป่วย

การป้องกันการป้องกันโรคสามารถทำได้ดังนี้
  1. คนเลี้ยงสุนัขควรนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉัดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นวิธีการป้องกันโรคที่ดีที่สุด ถ้าสุนัขในพื้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยร้อยละ ๗๕ จึงจะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ได้
  2. ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป อย่าปล่อยให้เด็กเล็กอยู่กับสุนัขตามลำพังและสอนเด็กให้รู้จักระมัดระวัง เมื่ออยู่ใกล้สุนัขอย่ารังแก แกล้ง ทำให้สุนัขตกใจ สำหรับผู้เลี้ยงสุนัขต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ให้สุนัขไปกัดคน และไม่ก่อความเดือดร้อน หรืออันตรายแก่ผู้อื่น
  3. ควบคุมจำนวนสุนัขไม่ให้เพิ่มขึ้น ผู้เลี้ยงควรนำสุนัขไปรับการคุมกำเนิดหรือนำไปทำหมัน และไม่นำสุนัขที่ไม่ต้องการไปปล่อย
  4. คนที่ถูกสัตว์ที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วน ต้องรีบล้างแผลใส่ยาไปหาหมอโดยเร็ว สุนัขที่กัดคนหรือสัตว์อื่นแล้วตายลงภายใน ๑๐ วัน ต้องส่งหัวไปตรวจที่ห้องปฏิบัติหรือติดต่อปศุสัตว์ในพื้นที่
(สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทรศัพท์๐-๒๕๙๐-๓๑๘๓, ๐-๒๕๙๐-๓๑๘๗)

 
เนื้อหาล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด