หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ รายงานว่า นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวมากขึ้น หวังรับประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติกว่า 213 บริษัทที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ มีเงินทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแผนลงทุนเพิ่มในอนาคตเป็นเงินรวม 17,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยนักลงทุนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือจีนมี 95 บริษัท อันดับ 2 คือ ไทย มี 17 บริษัท อันดับ 3คือ ญี่ปุ่น มี 14 บริษัทและเวียดนามเป็นอันดับ 4 มี 5 บริษัทเท่ากับมาเลเซีย
เวียงจันทน์ไทม์ระบุว่า 43% ของเงินลงทุนอยู่ในภาคธุรกิจบริการ 30% ที่เหลือเป็นการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับการค้า นักลงทุนรายใหญ่คือ บริษัทนิค่อนของญี่ปุ่นซึ่งลงทุนตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เพื่อผลิตกล้องเอสแอลอาร์ดิจิตอลขายทั่ว อาเซียนโดยการตั้งโรงงานในลาวเนื่องจากลดต้นทุน
เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลลาวกับนักลงทุนมาเลเซีย (30:70) ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ที่สามารถเชื่อมต่อไปถึงทะเลจีนใต้ที่เมืองดานังของเวียดนามและทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง ของเมียนมามีพื้นที่ประมาณ 1,318 ไร่
เวียงจันทน์ไทม์ ระบุว่านอกจากนิค่อนแล้วบริษัทโตโยต้า เป็นอีกบริษัทหนึ่งจากญี่ปุ่นที่เริ่มกระจายการลงทุนไปที่ประเทศลาว การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นนโยบายสำคัญของประเทศลาวในการสร้างงานสร้างอาชีพและเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุดเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆได้สร้างงานให้กับคนลาวและต่างชาติ 11,320 คน เป็นคนลาว 4,229 คน โดยจำนวนนี้มีถึง 6,000 คนที่ทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำที่แขวงบ่อแก้ว
ปัจจุบันลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ 11 แห่งอาทิ เขตบึงธาตุหลวงที่เวียนจันทน์ เขตสะหวัน-เซโนที่สะหวันนะเขต เขตสามเหลี่ยมทองคำที่บ่อแก้ว เขตบ่อเต็นแดนคำที่แขวงหลวงน้ำทา เขตลองแถ่งกอล์ฟที่เวียงจันทน์เขตภูเขียวในแขวง คำม่วน เขตปากเซ-เจแปน ที่แขวงจำปาสัก