นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สำนักระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งรายงานสถานการณ์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EBOLA VIRUS)
ขององค์การอนามัยโลก (ณ วันที่ 11 สิงหาคม 2557) พบว่า ในแถบประเทศแอฟริกาตะวันตก ทั้งหมด
4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกินี, ประเทศไลบิเรีย, ประเทศเซียร์ราลีโอน และประเทศไนจิเรีย พบผู้ป่วย จำนวน 1,848 ราย และเสียชีวิต จำนวน 1,013 ราย มีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยโรคติดเชื้อ
ไวรัสอีโบลาจากประเทศที่ระบาด โดยผ่านผู้เดินทางระหว่างประเทศ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มี
ข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค
โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา (EBOLA VIRUS) เป็นไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกรุนแรงในคนและลิง และ
เป็นโรคติดเชื้อไวรัสหนึ่งในโรคที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษย์ เนื่องจากอัตราการตายสูง โดยเมื่อเกิดระบาดเกิดขึ้น มักทำให้มีผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิต การระบาด เชื้อชนิดนี้แพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านทางการรับหรือสัมผัสของเหลวจากร่างกายผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเลือด น้ำลาย น้ำมูก สารคัดหลั่ง ตลอดจนเชื้ออสุจิ
แต่จะไม่ติดต่อกันทางการหายใจ อาการของผู้ป่วย หลังได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่
2 วัน – 3 สัปดาห์ ซึ่งจะเริ่มจากมีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั้งตัว เจ็บคอ ตามมาด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน มีผื่นนูน มีเลือดออกตามเยื่อบุของร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ภายในช่องปาก รวมทั้งเลือดออกที่ อวัยวะภายใน มีอาการผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและ
ไตล้มเหลว ช็อค ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50% - 90 %
ในปัจจุบันยังไม่มีทั้งวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาโดยเฉพาะ ทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น การป้องกันและคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 1). หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่นำเข้าโดยไม่ผ่านการตรวจโรค
2). หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว
หรือเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร 3). หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมี
ความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และล้างมือบ่อยๆ 4). หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือ ศพ นพ.พิทยาฯ กล่าวต่อว่า หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศรีษะ ปวดกล้ามเนื้อ
เจ็บคอ อาเจียน มีผื่นนูนแดงตามตัว และมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศกลุ่มเสี่ยง
(ประเทศกินี, ประเทศไลบิเรีย, ประเทศเซียร์ราลีโอน และประเทศไนจิเรีย) ให้รีบพบแพทย์ ในสถานบริการใกล้บ้าน ทันที
งานประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร ๐ – ๓๕๒๔ - ๑๕๒๐ ต่อ ๑๑๐