หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชน...ดูแลตนเองให้ห่างไกลโรค...ในช่วงฤดูร้อนเว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชน...ดูแลตนเองให้ห่างไกลโรค...ในช่วงฤดูร้อน

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559 เวลา 11:18 น.

 อ่าน 2,526

 

 

นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปัจจุบันสภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูร้อน  ซึ่งอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง จะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาด
มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนควรระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ 
โดยดื่มน้ำที่สะอาด การกินอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม      
จากสภาพอากาศที่ร้อนมากในช่วงเดือนเมษายนนี้ ส่งผลให้ประชาชนเจ็บป่วยได้ง่ายจากโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรคอุจจาระร่วง
โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไข้ไทฟอยด์ โรคอหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า                                                                     เพื่อให้ประชาชนป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยมากขึ้น ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำแข็ง น้ำดื่ม น้ำประปา
ตลาดสด และห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการป่วยมักมาจากน้ำดื่ม อาหารที่ไม่สะอาด และอาหารเสียง่าย โดยเฉพาะ
โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารและโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งฤดูร้อนนี้ มีโรคที่ต้องระมัดระวังดังนี้ 1. โรคอุจจาระร่วง สาเหตุเกิดจาก
การติดเชื้อหลายประเภททั้งแบคทีเรีย ไวรัส และกลุ่มเชื้อโปรโตซัว ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่มีโอกาสบูดเสียได้ง่ายในอากาศที่ร้อนจัด
และเมื่อรวมกับสุขอนามัยที่ไม่สะอาดแล้ว สามารถเกิดการเจ็บป่วยของโรคอุจจาระร่วงในหน้าร้อนนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชน
เชื้อแบคทีเรียบางชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องร่วงรุนแรง มีอาการขาดน้ำ สูญเสียเกลือแร่ หากอาการไม่รุนแรงก็สามารถ
ให้การรักษาเบื้องต้นได้เองด้วยผงเกลือแร่ผสมน้ำดื่ม แต่ไม่แนะนำให้ซื้อยาปฏิชีวนะมาทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ 2. โรคอาหารเป็นพิษ
จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งพบได้มากในช่วงหน้าร้อน สาเหตุสำคัญเกิดจากการทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ
ที่เกิดจากเชื้อบิด เชื้อสแตปฟีโลคอกคัส และเชื้อบาซิลลัส ซึ่งมักเป็นสารที่ทนต่อความร้อน พบบ่อยในอาหารประเภทไส้กรอก กุนเชียง
ข้าวผัดต่าง ๆ ถึงจะกินอาหารที่สุกร้อนแล้ว แต่หากส่วนผสมก่อนนำมาปรุงอาหารเกิดบูดเสียก่อน ก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ หรือปวดเมื่อย อ่อนเพลีย จนถึงท้องร่วงจากสารพิษที่ทนความร้อน 3. โรคบิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในอาหารเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยจะถ่ายเป็นมูกปนเลือดบ่อยครั้ง และรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด 4. โรคไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย เชื้อปนเปื้อน
มาเหมือนกับโรคอื่น ๆ อาหารที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์น้ำ ผู้ป่วยโรคนี้ สัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง
อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการหนาวสั่น ซึมลง อาการเพ้อได้ 5. โรคอหิวาตกโรค เป็นโรคติดต่อ
ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายโดยทางอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เชื้อจะสร้างพิษออกมาทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นสีน้ำซาวข้าว ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้   
ในฤดูร้อนนี้ควรเลือกทานอาหารและน้ำที่สุกสะอาด อาหารไม่บูดหรือเสียก่อนนำมาปรุง อาหารที่ต้องการความสด เช่น อาหารทะเล
ควรระมัดระวังการปนเปื้อนน้ำยาฟอร์มาลิน หากไม่แน่ใจไม่ควรซื้อมารับประทาน งดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะ
ยิ่งอากาศร้อนมาก การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ร่างกายจะสามารถซึมผ่านแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ และน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำได้หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
และดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวันเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป 6. โรคที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง ในช่วงฤดูร้อนนั้นเช่น โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ
เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี โดยมีพาหะหลักจากสุนัข แมว ที่นำเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ซึ่งอาจกัด ข่วน หรือเลียผิวหนัง
คนมีแผล ที่สำคัญเชื้อไวรัสเรบี่ส์นี้ เมื่อปรากฏอาการของโรค จะเสียชีวิตทุกราย เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองและคนรอบข้าง
และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด หรือโดนทำร้าย ได้ดังนี้  อย่าแหย่ ให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆโกรธ, อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ, อย่าแยก สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ที่กำลังกัดกัน ด้วยมือเปล่า, อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัข
หรือสัตว์ต่าง ๆ กำลังกินอาหาร, อย่ายุ่ง หรือ เข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ, และเมื่อถูกสุนัขกัด ต้องปฏิบัติตน
อย่างถูกต้องโดย ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ กักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง                                                                                                                                    นพ.พิทยาฯกล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  
ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไอ จาม ปิดปาก หมั่นออกกําลังกาย และหากพบว่าตนเองหรือคนในบ้านมีอาการสงสัยว่าป่วย
ให้รีบพบแพทย์ในสถานบริการใกล้บ้าน เพื่อทําการวินิจฉัยและรับการรักษาทันท่วงที


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด