นายภูริธัช มีแก้ว พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดระเบียบการพักอาศัย การดูแลอาหารน้ำดื่ม ให้มีความเหมาะสมเพราะจังหวัดได้จัดศาลากลางจังหวัดเป็นเสมือนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาป้องกันอุทกภัยของจังหวัด แต่เนื่องจากมีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าพักพิงชั่วคราวภายในศาลากลางจังหวัด ขณะนี้จัดระเบียบภายในศูนย์ราชการจังหวัดได้เรียบร้อย โดยดูแลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น หากมีผู้อพยพมาใหม่จังหวัดได้เตรียมความพร้อมรับเพิ่มเติมที่อาคารตรงข้ามศูนย์ราชการจังหวัด
ในระยะแรกตั้งแต่เริ่มวิกฤตอุทกภัยวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา ประชาชนได้เข้าพักพิงในศูนย์อพยพที่ส่วนราชการได้จัดไว้ คือตลาดรุ่งเจริญอยู่ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ภายในสถานที่ที่อำเภอทั้ง ๑๖ อำเภอ จัดเป็นศูนย์อพยพ และมีอีกจำนวนมากที่ย้ายจากบ้านเรือนที่น้ำท่วมมาพักพิงในศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ระยะที่สอง เมื่อมีการจัดสถานที่พักเป็นศูนย์อพยพรองรับ และดูแลได้ดีกว่าคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดได้ให้ประชาชนแสดงความประสงค์และย้ายไปพัก ณ สถานที่ดังกล่าว
ระยะที่สาม น้ำท่วมล้นประชาชนต้องย้ายเป็นครั้งที่สอง ในครั้งนี้ได้ย้ายไปค่ายอดิศร ตลาดโรงเกลือ และอื่นๆ มีบางส่วนต้องการกลับมาอยู่ใกล้บ้านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แต่เนื่องจากขณะนี้ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเจตนารมณ์เดิมเป็นเพียงศูนย์พักพิงชั่วคราว ได้ดำเนินการจัดระเบียบเรียบร้อยแล้ว เพื่อการรักษาความสะอาด การลดใช้กล่องโฟมที่ใส่อาหารเพราะสร้างขยะปริมาณไม่น้อยต่อวัน จึงขอประชาสัมพันธ์มาเพื่อทราบและร่วมกันปฏิบัติ ดังนี้
๑. ภายในศาลากลางจังหวัด รับคนได้เพียง ๒๕๐ คน (ตามที่ลงทะเบียนไว้ งดรับเพิ่ม) ได้มอบถาดหลุมเพื่อรับอาหารทุกวันๆละ ๓ มื้อ และให้ประชาชนล้างทำความสะอาดด้วยตนเองให้เรียบร้อย โดยทางราชการได้จัดบริเวณล้างภาชนะไว้ที่สนามศาลากลางจังหวัด สำหรับน้ำดื่มได้ตั้งตู้เติมน้ำไว้ ให้ประชาชนนำขวดมาใส่แทนการแจกน้ำแพ็ค
๒. หากผู้อพยพรายใดต้องการกลับเคหสถาน ให้มาแจ้งที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชั้น ๑ เพื่อจัดรถขนสัมภาระกลับบ้านให้
๓. ผู้อพยพใหม่ หากประสงค์จะพักบริเวณศาลากลางจังหวัด ขอให้ไปลงทะเบียนเพื่อพักที่ตรงข้ามศูนย์ราชการจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์อพยพที่มีโรงพยาบาลสนาม และมีความพร้อมในการบริหารจัดการ
๔.การจัดกิจกรรมฝึกอาชีพ ทุกวันจะมีกิจกรรมสอนฝึกอาชีพสลับหมุนเวียน เพื่อสอนอาชีพและให้ประชาชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง ส่งเจ้าหน้าที่มาสอนการตัดเย็บเสื้อชูชีพประดิษฐ์จากถุงพลาสติก , การสานตะกร้าจากเส้นใยพลาสติก
จังหวัดขอเป็นตัวแทนชาวพระนครศรีอยุธยา ขอบคุณทุกท่านที่ได้มอบสิ่งดีๆให้กับเรา และขอบคุณผู้สนับสนุนทั้งแรงกาย แรงใจ ผู้บริจาค อาทิ ปตท. คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และทุกๆคนที่ทำให้สังคมที่เราอยู่ร่วมกัน ได้ช่วยเหลือกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน เราจะช่วยกันฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปให้ได้