นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติในหลักการกำหนดวงเงินในการปล่อยสินเชื่อเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่นอกนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบด้านเศรษฐกิจไปพิจารณาในรายละเอียดในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังต่อไป
นพ.วรรณรัตน์กล่าวว่า หลักเกณฑ์วงเงินกู้ดังกล่าว จะเป็นการปล่อยกู้เอสเอ็มอี 2.1 แสนล้านบาท เป็นการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในนิคม 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการรายอื่นและอาชีพอิสระ โดยในส่วนของการปล่อยกู้เอสเอ็มอีและนิคมอุตสาหกรรม คิดดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี ในส่วนของแหล่งเงินกู้นั้นจะมาจาก 3 ส่วน
1.กองทุนแมตชิ่งฟันด์ระหว่างธนาคารออมสินกับธนาคารพาณิชย์ 4 หมื่นล้านบาท
2.แหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่ง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะค้ำประกันให้กับผู้ประกออบการในอัตรา 30% ของวงเงินสินเชื่อ
3.การปล่อยสินเชื่อโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (เจบิก) 5 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือธนาคารออมสินจะเป็นผู้รับผิดชอบให้รายย่อย
ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะเสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพิ้นที่เขต 1 ให้ใกล้เคียงกับเขต 2 และ 3 พร้อมทั้งจะมีการเสนอบอร์ดบีโอไอให้มีการพิจารณายกเว้นภาษีเป็นเวลา 8 ปี สำหรับการลงทุนในพื้นที่เขต 1 โดยไม่จำกัดวงเงินลงทุน เพื่อมิให้มีการย้านฐานการผลิต จะมีการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรอีกด้วย
แหล่งข่าว : http://www.matichon.co.th