เกษตรและสหกรณจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 เกี่ยวกับผลการประชุมคณะทำงานศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้วยการเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่เกี่ยวข้องและสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า ณ ปัจจุบันเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการปลูกข้าวนาปรัง 645,641 ไร่ ซึ่งคิดเป็น 140% ของเป้าหมายพื้นที่การทำนาปรังที่ทางหน่วยงานกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนไว้ในปีนี้ 458,800 ไร่ ซึ่งเป็นเหตุให้ทางหน่วยงานกรมชลประทานต้องทำการปรับแผนการส่งน้ำ โดยมีการผันน้ำส่วนหนึ่งจากแม่น้ำท่าจีนที่รับน้ำจากเขตจังหวัดกาญจนบุรีผ่านคลองพนมทวน/คลองจรเข้สามพัน ลงแม่น้ำท่าจีนที่ตอนเหนือของ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ผันเข้าสู่คลองพระยาบันลือทางตอนใต้ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสนับสนุนการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คลองทิ้งน้ำต่างๆทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก คลองระพีพัฒน์ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ทำนาของเกษตรกร รวมทั้งมีการประชุมเกษตรกรทุกๆพื้นที่เพื่อการปรับแผนการส่งน้ำ การใช้น้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ทำนาที่เกินเป้าหมาย แต่เนื่องจากน้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ทั้งสองแห่งในภาคเหนือมีปริมาณน้ำใช้งานเหลืออยู่เพียงประมาณ 30% ซึ่งต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลักดันน้ำเค็มเป็นหลัก จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรว่าหากทำการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูกาลนี้ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม ขอให้หยุดทำนาเพิ่มเติมอีกเพราะจะต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ให้ชะลอการทำนาไปในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็จะปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ในหลายพื้นที่เพื่อมุ่งหวังให้มีฝนตกเหนือเขื่อนเก็บน้ำต่างๆ แต่หากเกษตรกรในพื้นที่ใดมีความประสงค์การปฏิบัติการฝนหลวง ให้ติดต่อผ่าน สนง.เกษตรและสหกรณจังหวัดได้ทุกจังหวัดเพื่อประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรต่อไป ทั้งนี้จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบในระดับภาคพื้นว่าจะไม่ก่อเกิดผลเสียหายต่อผลผลิตของเกษตรกรส่วนใหญ่