เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ไปมอบแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อร่วมกันพัฒนาจังหวัดและรับทราบสถานการณ์ด้านอุตสาหกรรม และ การคมนาคม จากหน่วยงานในสังกัด โดยเวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องประชุมชบา นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมแขวงการทางอยุธยา ซึ่งได้สรุปวางแนวทางแก้ไขปัญหาพอสังเขป ดังนี้
ด้านการอุตสาหกรรม
๑. การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อมีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมเป็นการเฉพาะ ขอให้ทางอุตสาหกรรมได้เสนอเรื่องยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมไว้ในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด (๑ ใน ๒๕ – ๓๐ เรื่อง) คณะกรรมการซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะมีหน้าที่ผู้ติดตาม ผลักดัน ช่วยเหลือ กรณีที่ต้องใช้งบสนับสนุนของจังหวัด ผู้ว่าฯจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
ประโยชน์ บรรเทาปัญหาบุคลากรจำกัดของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
๒. การจัดการจราจรหน้านิคมอุตสาหกรรมบางปะอินแก้ปัญหารถติด อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อติดตั้งไฟจราจรสามแยก และจัดให้รถไปวกกลับที่ใต้สะพาน ซึ่งทางนิคมได้สำรวจปริมาณรถรายงานแขวงการทางแล้วไม่ขัดข้องดำเนินการ งบประมาณ ๑.๗ ล้านบาท ได้รับสนับสนุนจาก บ.ที่ดินบางปะอิน ๓๐ % ชมรมผู้ประกอบการ ๗๐ % คาดจะเสร็จให้เป็นของขวัญประชาชนปีใหม่
๓. การระบายน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินให้มีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันใช้การสูบออกซึ่งจะส่งผลต่อชุมชนรอบนิคม จะแก้ไขด้วยการผลักน้ำออกทางท่อระบายน้ำใต้ถนนสู่คลองหนองหอย และคลองเจ๊กมา (แก้มลิง) ซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมมือ ได้แก่ นายอำเภอบางปะอิน เทศบาลตำบลคลองจิก กองทุนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และผู้ประกอบการภายในนิคม โดยมีการออกแบบและคำนวณงบประมาณเบื้องต้นแล้ว
ด้านการคมนาคม
๑. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำของทางหลวงชนบท ผังเมือง ก. ตอนที่ ๒ เชื่อมทางหลวง ๓๔๗ ตามกำหนดเวลาเดิมจะต้องเสร็จตามสัญญา ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ แต่เนื่องจากแบบการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ จะขอขยายเวลาไป ปี
๒๕๕๙ ให้สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งนำเข้าหารือในที่ประชุม กรอ.จังหวัด แล้วแจ้งมติ/ความเห็นไปยังส่วนกลางพิจารณาต่อไป
๒. ถนนสายจากข้างวัดใหญ่ชัยมงคล มาศาลากลางจังหวัดสร้างไม่เสร็จ ขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงว่าเหตุใดจึงไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะอันตรายในการสัญจร ซึ่งจะนำเรื่องไปหารือท้องถิ่นจังหวัดเพื่อให้ทราบรายละเอียดต่อไป
๓. แก้ไขการจราจรติดขัดช่วงเทศกาลในถนนสายหลัก โดยขอรับงบประมาณ ๒ พันล้านบาท ขยายเป็น ๔ ช่องจราจรทางต่างระดับบางปะอิน ,เปิด reversable Lane
๔. โจรกรรมทรัพย์สินของทางราชการ เป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา
๕. รุกล้ำพื้นที่เขตทางหลวง โดยการกวดขันจัดระเบียบ และให้ความรู้กับประชาชนว่ากำลังกระทำการผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมทางหลวง เรื่องฝ่าฝืนค้าขายข้างถนน มาตรา ๔๙
๖. รถบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด เลี่ยงด่านชั่งน้ำหนักไปใช้ถนนสายใน ทำให้ถนนชำรุด ควรที่ท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่จะทบทวนการพิจารณาการอนุมัติบ่อดิน และสั่งปิดบ่อดินหากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย
๗. งานก่อสร้างสะพานข้ามแยกทางรถไฟ สำนักก่อสร้างสะพานซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางได้รับไปออกแบบเพื่อดำเนินการต่อไป ตามที่ผู้ว่าฯสั่งการว่าเป็นจุดอันตราย
๘. การกัดเซาะตลิ่งพังในแม่น้ำป่าสัก ทำให้การขุดลอกแม่น้ำป่าสักเพื่อการเดินเรือยังไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร จึงต้องก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และการที่เรือบรรทุกขนาดใหญ่สัญจรเร่งให้ตลิ่งและบ้านเรือนริมน้ำได้รับผลกระทบ จะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าแหล่งน้ำใด เรือขนาดเท่าไรจึงจะสามารถสัญจรได้ และภายใต้งบฯกรมเจ้าท่า จะติดตั้งกล้องตรวจจับตลอดลำน้ำป่าสัก
๙. การสร้างสะพานขวางลำน้ำบริเวณวิทยาลัยต่อเรือ ขอฝากให้เจ้าท่าช่วยตรวจตราไม่ปล่อยให้มีสิ่งกีดขวาง
๑๐. การกำจัดผักตบชวา หน่วยงานที่มีเครื่องมือและภารกิจโดยตรง คือ ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ ๑ แต่ดูแลรับผิดชอบ ๑๔ จังหวัด จะนำเครื่องมือมากำจัดผักตบชวาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้อบรมให้ความรู้กับประชาชนในการนำไปทำปุ๋ยหมัก
----------------------------
สรุปและเรียบเรียงโดย กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 19/11/57