สำนักงานสถิติจังหวัดฯ สำรวจข้อมูลสำมะโนการเกษตร 1 - 31 พ.ค. 56 นี้
สำนักงานสถิติจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจข้อมูลสำมะโนการเกษตร ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับ "นายมาดี"
"ให้ข้อมูลกับนายมาดี เกษตรกรมีแต่ได้
รัฐได้ข้อมูล เกษตรกรได้ประโยชน์ ท้องถิ่นได้พัฒนา"
ประเทศไทยมีการจัดทำสำมะโนการเกษตรมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2493 ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2506 ครั้งที่สามเมื่อ พ.ศ. 2521 ครั้งที่สี่เมื่อ พ.ศ. 2536 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2546 ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ และสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย ติดตาม และประเมินผลโครงการพัฒนาทางการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่แนะนำให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก 10 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 ในการจัดทำโครงการสำมะโนทุกด้าน จึงได้กำหนดที่จะจัดทำสำมะโนการเกษตรครั้งที่ 6 ขึ้นในปี 2556 โดยครั้งนี้การทำสำมะโนการเกษตรได้ขยายขอบข่ายการทำการเกษตรครอบคลุมถึงการทำนาเกลือสมุทรตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 มีนาคม 2554 เรื่อง การเกษตรกรรมให้รวมถึงการทำนาเกลือสมุทร และได้ผนวกข้อถามการทำประมงน้ำจืด การทำประมงทะเล และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (รวมเพาะพันธุ์) ไว้ในแบบนับจดด้วย
สำมะโนการเกษตรคืออะไร?
สำมะโนการเกษตร หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเกษตร โดยการสอบถามจากผู้ถือครองทำการเกษตรทุกคนทั่วประเทศ ณ วันสำมะโน เปรียบเสมือนการฉายภาพนิ่งของการเกษตรของประเทศไทย ณ วันสำมะโน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ณ วันสำมะโนประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง (จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน) มีลักษณะการทำการเกษตรเป็นอย่างไร (มีจำนวน เนื้อที่เท่าไร ทำอะไร ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ อะไรบ้าง) มีการศึกษาระดับไหน มีรายได้หนี้สินเท่าใด เป็นต้น
วันสำมะโน หมายถึง วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 กำหนดขึ้นเพื่อใช้อ้างอิงข้อมูล เช่น จำนวนบ้าน/ครัวเรือนเกษตร ลักษณะต่างๆ ของครัวเรือนเกษตรและการทำการเกษตร เป็นต้น
วัตถุประสงค์
1) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ได้แก่ จำนวนผู้ถือครอง และ เนื้อที่ถือครองทำการเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด การทำนาเกลือสมุทร การใช้ประโยชน์ในที่ถือครอง การถือครองที่ดิน เนื้อที่เพาะปลูกพืช เนื้อที่ทำนาเกลือสมุทร และเนื้อที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด จำนวนการเลี้ยงปศุสัตว์ การใช้ปุ๋ย การใช้เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อการเกษตร และกำลังแรงงานที่ใช้ในการเกษตร