นพ.สมพงษ์ บุญสืบชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึง แนวโน้มการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ย้ำต้องระวังการติดเชื้อซ้ำเติมจากไข้หวัดใหญ่ ที่อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายของเด็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน หรือทุกๆ 15 วินาทีจะมีเด็กตาย 1 คน ดังนั้นองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลก (World Pneumonia Day Coalition) ได้กำหนดให้วันที่ 2 พฤศจิกายน เป็น “วันปอดบวมโลก” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือกันลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตจากโรคปอดบวม
ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนั้นเป็นฤดูที่โรคระบบทางเดินหายใจระบาดหนัก เนื่องจากอากาศที่ชื้นจะเอื้อให้เชื้อโรคต่างๆ มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉพาะโรคปอดบวมซึ่งเป็นโรคที่เด็กเล็กเป็นกันมาก ที่สำคัญยังพบว่าโรคปอดบวมเป็นโรคแทรกซ้อนที่สำคัญจากเด็กที่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงมากขึ้นหลายเท่าจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยทั่วไปโรคปอดบวมส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง ที่นอกจากจะก่อให้เกิดปอดบวมรุนแรงหรือปอดอักเสบแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงอื่นๆได้อีก เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือดและหูอักเสบ เป็นต้น และถ้าเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือในเด็กเล็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้
โดยทั่วไปเชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะมีความชุกของเชื้อในโพรงจมูกสูงกว่าในผู้ใหญ่ และสามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นโดยผ่านละอองฝอยของน้ำมูก เสมหะ เวลาไอจาม หรือฝ่ามือที่สัมผัสกับสิ่งต่างๆ ซึ่งอากาศเย็นจะทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดีโดยเฉพาะในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เช่น ในสถานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
ในกรณีเด็กเล็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดบวมนั้น พ่อแม่ควรเฝ้าระวังและป้องกันอย่างใกล้ชิด ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและดูแลสุขภาพของลูกให้แข็งแรง หากลูกไม่สบายต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็ก ยังไม่สามารถบอกกล่าวอาการเจ็บป่วยได้ด้วยตัวเอง และบางครั้งอาจมีปอดบวมแทรกซ้อนได้อีกด้วย ซึ่งอาการที่สำคัญที่ต้องสังเกตคือ ไข้ ไอมาก หายใจเร็วกว่าปกติ หอบ หรือหายใจลำบากจนซี่โครงบุ๋ม ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนของโรคปอดบวม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาให้ทันท่วงที
ซึ่งนอกจากการเฝ้าระวังในเด็กเล็กแล้วยังต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงที่เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งได้แก่ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ โรคไต โรคโลหิตจาง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ จะเจ็บป่วยง่าย และเมื่อป่วยแล้วอาการมักรุนแรงกว่าประชาชนทั่วๆไปอีกด้วย
นายแพทย์สาธารณสุขฯ จึงขอแนะนำให้ประชาชนในทุกกลุ่มหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่น ถ้าไม่สบายมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้สูง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ ให้นอนพักอยู่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้โดยจะมีความผิดปกติ การหายใจลำบากขึ้น เช่น หายใจเร็ว หอบ หายใจลำบาก ขอให้รีบไปรับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขทันที
ดาวน์โหลดไฟล์