หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนระวังตาพร่า ปวดศีรษะ ชาครึ่งซีก เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาตเว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมอใหญ่กรุงเก่า : แนะประชาชนระวังตาพร่า ปวดศีรษะ ชาครึ่งซีก เสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2559 เวลา 14:45 น.

 อ่าน 2,989

นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่าองค์การอนามัยโลก

ได้ให้ความสำคัญกับโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน จึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก”  ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน หากผู้ป่วยถึงมือหมอช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตตลอดชีวิตได้

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง จากการอุดตันของเส้นเลือด
ที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือดและทำงานไม่ได้ อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น ตาพร่า
มองเห็นภาพซ้อน ชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบากหรือฟังไม่เข้าใจ
เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ซึ่งอาการจะแสดงอย่างหนึ่งหรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน

กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจ
เต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถป้องกันได้โดย เรียนรู้สัญญาณเตือนของโรค  และปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ลดบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เละเพิ่มผัก ผลไม้ ออกกำลังกาย
อย่างเพียงพอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ลดความเครียด
และพักผ่อนให้เพียงพอ

สาเหตุ สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันเกิดจากการมีไขมัน ไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านใน
หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจหรือผนังหัวใจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง  ซึ่งมักพบในผู้ป่วย
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านใน
ทำให้เส้นเลือดอุดตัน การแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไป หรือเกร็ดเลือดมากเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุหลัก
ที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้

การรักษา  สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษาคือ การส่งผู้ป่วยมารักษา
ภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยมีเลือดกลับมาเลี้ยงสมองให้เร็วที่สุด และเนื้อสมอง
บริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว การให้ยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันเพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย
หากพบว่าสาเหตุเกิดจากการตีบตันของผนังภายในหลอดเลือด แพทย์สามารถใช้บอลลูนหรือตาข่ายเพื่อถ่างขยายผนัง
ภายในหลอดเลือดที่ตีบให้กว้างขึ้น  
          การป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรงดสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรรักษาความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หมั่นตรวจหัวใจเพื่อตรวจหาความเสี่ยง
เพราะลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจอาจหลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรพบแพทย์ด่วน


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด