นพ.วีระพล ธีระพันธ์เจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา รักษาราชการแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าองค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญกับโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
จึงได้กำหนดให้ในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอัมพฤกษ์ อัมพาตโลก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย
ส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน หากผู้ป่วยถึงมือหมอช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตตลอดชีวิตได้
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง จากการอุดตันของเส้นเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้สมองขาดเลือดและทำงานไม่ได้ อาการเบื้องต้นที่พบบ่อย เช่น ตาพร่ามองเห็นภาพซ้อน ชาครึ่งซีก อ่อนแรงและหน้าเบี้ยว หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย พูดลำบากหรือฟังไม่เข้าใจ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่ดี เดินเซ กลืนลำบาก ซึ่งอาการจะแสดงอย่างหนึ่งหรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกัน
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่ ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และผู้ที่
ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต สามารถป้องกันได้โดยเรียนรู้สัญญาณเตือน
ของโรค และปฏิบัติตามแนวทางเพื่อลดความเสี่ยง ได้แก่ลดบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม เละเพิ่มผัก ผลไม้
ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ
ลดความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
สาเหตุ สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบตันเกิดจากการมีไขมัน ไปเกาะผนังหลอดเลือดด้านใน
หรือมีลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจหรือผนังหัวใจหลุดไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง ซึ่งมักพบในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้น
ผิดจังหวะ หัวใจโต ลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ผนังหัวใจรั่ว หรือเกิดการฉีกของผนังหลอดเลือดด้านในทำให้เส้นเลือดอุดตัน การแข็งตัวของเลือดที่เร็วเกินไป หรือเกร็ดเลือดมากเกินไป ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันได้
การรักษา สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษาคือ การส่งผู้ป่วยมารักษาภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยมีเลือดกลับมาเลี้ยงสมองให้เร็วที่สุด และเนื้อสมองบริเวณนั้น
ฟื้นตัวได้เร็ว การให้ยาละลายลิ่มเลือดที่อุดตันเพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หากพบว่าสาเหตุเกิดจากการตีบตันของผนังภายในหลอดเลือด แพทย์สามารถใช้บอลลูนหรือตาข่ายเพื่อถ่างขยายผนังภายในหลอดเลือดที่ตีบให้กว้างขึ้น
การป้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงควรงดสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรรักษาความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หมั่นตรวจหัวใจเพื่อตรวจหาความเสี่ยง เพราะลิ่มเลือดขนาดเล็กที่ลิ้นหัวใจอาจหลุดเข้าไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรพบแพทย์ด่วน