ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยชาวกรุงเก่า เว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยชาวกรุงเก่า

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เวลา 16:42 น.

 อ่าน 1,740

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยชาวกรุงเก่า
กำชับผู้ปกครองดูแลบุตรหลานป้องกันเด็กจมน้ำตายในช่วงน้ำหลาก

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ  ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยภัยในเขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา และอำเภอบางปะหัน  โดยมอบเวชภัณฑ์และชุดนายสะอาดให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลบ้านใหม่จำนวน ๒๐๐ ชุด และพื้นที่ตำบลบ้านขล้อ อำเภอบางปะหัน จำนวน ๔๐๐ ชุด 
พร้อมทั้งลงเรือเยี่ยมบ้านที่ประสบอุทกภัยจำนวน ๓ หลัง ย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลสุขภาพกายและจิตประชาชน
ที่กำลังเผชิญปัญหาอุทกภัย และกำชับผู้ปกครองป้องกันเด็กจมน้ำตายในช่วงน้ำหลาก

นายสุรชัย กล่าวว่า ขณะนี้พบว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโรคน้ำกัดเท้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องแช่น้ำลุยน้ำนานเพื่อไปทำภารกิจต่างๆ ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ให้แจกยาชุดน้ำท่วม และยารักษาโรคน้ำกัดเท้า
แก่ผู้ประสบภัยให้ทั่วถึง และให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือวอร์รูมน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจัดส่งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค อุปกรณ์การทำงานต่างๆ สนับสนุนให้แก่จังหวัดที่ประสบภัยให้เพียงพอต่อการบริการผู้ประสบภัย

จากสภาพสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมหลาก ในบางพื้นที่กระแสน้ำเชี่ยวกราก ประชาชนประสบปัญหาภัยธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น ผลที่ตามมาก็คือสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชน
เช่น ต้องอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ท่วมขัง ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด การขับถ่ายและการกำจัดขยะไม่ถูกสุขลักษณะ เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดต่อที่อาจจะเกิดการระบาดซ้ำเติม
ผู้ประสบอุทกภัยก็เป็นได้ บางครอบครัวต้องเผชิญกับความสูญเสียจากสาเหตุที่บุตรหลานเสียชีวิต
จากการจมน้ำ  จึงได้กำชับให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังเด็กจมน้ำตาย จึงขอให้ผู้ปกครองหรือผู้ใกล้ชิดเด็กควรตระหนักและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการกำจัดปัจจัยเสี่ยงด้วยการระบายหรือเทน้ำในภาชนะที่ไม่ใช้ทิ้ง, ปิดฝาภาชนะที่บรรจุน้ำให้เรียบร้อย, สร้างแนวหรือรั้วกั้นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอให้คำนึงอยู่เสมอว่าระดับน้ำเพียง ๑ – ๒ นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กจมน้ำได้, ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง, สอนให้รู้จักใช้เสื้อชูชีพตลอดเวลาเมื่อโดยสารเรือ, แนะนำวิธีการ
ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดแก่เด็ก เช่น การลอยตัวแบบนอนคว่ำ หรือนอนหงาย สอนการใช้ขวดน้ำพลาสติกเปล่าปิดฝาช่วยในการลอยตัว  รวมถึงการช่วยเหลือคนจมน้ำที่ถูกต้องโดยการไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ให้ตะโกนเรียกผู้ใหญ่หรือใช้อุปกรณ์ช่วยยื่นหรือโยน เช่น กิ่งไม้ เชือก ห่วงยาง

หากพบเด็กจมน้ำห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่าหรือวางในลักษณะกระทะคว่ำเพื่อเอาน้ำออกเพราะเป็น
วิธีที่ผิดและจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจยิ่งขึ้น
หากเด็กไม่หายใจต้องทำการปฐมพยาบาลด้วยการเป่าปาก
และนวดหัวใจทันที เพราะหากปล่อยให้สมองขาดออกซิเจนเพียง ๔ - ๕ นาที ก็จะทำให้สมองสูญเสียสภาพได้
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เด็กจมน้ำรอดชีวิตได้ทันท่วงที ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์สามารถ โทร. ๑๖๖๙ เพื่อเรียกรถพยาบาลได้ฟรี

 

 

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๑๕๒๐ ต่อ ๑๑๐

ดาวน์โหลดไฟล์
คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด