นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากสถิติ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขสำหรับประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับสองในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม อัตราการเกิดโรคและอัตราตาย เท่ากับ 24.5 และ 12.8 ต่อแสนประชากรหญิง ผู้หญิงไทยอายุ 40-65 ปี เป็นกลุ่มที่
ป่วยสูงที่สุด
"โรคมะเร็ง" เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากมีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้น โดยมะเร็ง
ที่พบบ่อยในชายคือมะเร็งตับและมะเร็งปอด ที่พบบ่อยในหญิงคือมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม โดยที่ในแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย มีอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน โรคมะเร็งบางชนิดถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในระยะเริ่มแรกจะสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ แต่โรคมะเร็งบางชนิดสามารถทำได้เพียงการบรรเทา
ความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าที่ไม่ได้ทำการรักษาเท่านั้น
สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การมีเพศสัมพันธ์อายุ ยังน้อย มีบุตรมาก ประวัติเป็นกามโรค ปัจจัยที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของการป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก คือการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เชื้อไวรัสเอชพีวี(HPV: Human Papillomavirus) ที่เนื้อเยื่อบุผิวปากมดลูกทำให้เซลล์บริเวณปากมดลูกเจริญผิดปกติและเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูก เชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหูดบริเวณผิวหนังและอวัยวะเพศ การติดเชื้อเอชพีวีบริเวณปากมดลูกส่วนใหญ่หายเองได้ เชื้อไวรัสเอชพีวี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (สายพันธุ์ 6 และ 11 พบร้อยละ 90 เป็นหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ) 2.สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง(สายพันธุ์ 16,18,31,33 ,35,39 และ 45) ในประเทศไทย ไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความสัมพันธุ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 พบ ร้อยละ 73.8
ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกนั้น ในระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่มีความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปากมดลูก มีรอยโรคก่อนมะเร็ง หรือมีมะเร็งปากมดลูกที่ยังไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อปากมดลูก ที่สามารถตรวจพบได้ โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap Smear หากผู้ป่วยระยะแรกเหล่านี้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะมีการพยากรณ์โรคดีที่สุด กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้หญิงไทยอายุ 30 ปีขึ้นไปทุกคน ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 5 ปี ถึงแม้จะเคยได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม สำหรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เป็นวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี มีเป้าหมายหลักในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือ วัคซีนเชื้อตาย (ชื่อการค้า bivalent vaccine) เป็นไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 ขนาดและวิธีการใช้วัคซีน มีดังต่อไปนี้ 1. หญิงได้รับวัคซีนเข็มแรกอายุระหว่าง 9-14 ปี ฉีด 1 โด๊ส (0.5 มล) เข้ากล้าม จำนวน 2 เข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรก 6 เดือน 2. หญิงได้รับวัคซีนเข็มแรกอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ฉีด 1 โด๊ส (0.5 มล) เข้ากล้าม จำนวน 3 ครั้ง เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1-2.5 เดือน และเข็มที่สามห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีมีดังนี้
1. หญิงตั้งครรภ์ 2. ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนป้องกันเอชพีวีมาก่อน 3. ผู้ที่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน 4. ผู้ที่มีประวัติแพ้ยีสต์ ปฏิกิริยาจากวัคซีน 1. ปฏิกิริยาที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด ผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีด
มีไข้ ปวดศีรษะ 2. การฉีดในวัยรุ่นมีรายงานอาการหน้ามืดเป็นลมหลังฉัดวัคซีน
นพ.พิทยาฯ กล่าวต่อว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรกที่ดำเนินการโครงการนำร่องให้บริการวัคซีนป้องกัน เอชพีวีในนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 5 ทุกคน เป้าหมายเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ เด็กหญิงไทยที่ไม่ได้รับการศึกษา อายุ 9-14 ปี ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกคน(ประมาณ 6,000 คน) กำหนดให้ฉีดวัคซีนเอชพีวี จำนวน 2 เข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรก 6 เดือน สามารถมารับบริการได้ที่ หน่วยบริการภาครัฐทุกแห่ง หรือ หน่วยบริการที่ออกให้บริการในโรงเรียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือน กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป