นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า องค์กรพันธมิตรโลกเพื่อการเลี้ยงลูก
ด้วยนมแม่ (WABA : World Alliance for Breastfeeding Actions) ได้กำหนดให้ในวันที่ 1 – 7 สิงหาคมของทุกปี เป็นสัปดาห์นมแม่โลก จุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้คุณแม่เห็นถึงความสำคัญของนมแม่และให้นมลูกด้วยตัวเองเพราะ นมแม่เป็นวัคซีนหยดแรกของชีวิตลูกน้อย ให้สารอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตและภูมิต้านทานโรค การให้ลูกได้ดูดนมแม่เป็นการช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง
5 ได้เป็นอย่างดี
เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีดังต่อไปนี้ 1). การเติบโตของเด็กกินนมแม่ จะแตกต่างจากเด็กกินนมผสม ทั้งนี้ เด็กที่ได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม จะเติบโตเร็วในช่วงแรก โดยเฉลี่ย ประมาณ 6 เดือน จากนั้น การเติบโตของเด็กกินนมแม่หลายคน จะช้ากว่าเด็กที่กินนมผสม 2). แม่ทุกคนมีปริมานน้ำนมมากพอที่จะเลี้ยงลูก อย่ากังวลหากแม่บีบน้ำนมแม่ไม่ออกใน 2 - 3 วันแรกหลังคลอด เพราะในระยะนี้ น้ำนมแม่ยังมีปริมาณไม่มากนัก แต่จะมีมากพอสำหรับลูก ขอเพียงแค่คุณแม่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เชื่อมั่นว่าตนเองต้องมีน้ำนมพอ ทำตัวเองให้ผ่อนคลายไม่เครียด พยายามอดทนต่อความเหนื่อยที่ให้ลูกดูดนมทุก 2 - 3 ชั่วโมง อดทนต่ออาการเจ็บหรือเสียวมดลูกขณะลูกกำลังดูดนม เพราะ ฮอร์โมนอ็อกซิโตซิน ที่ช่วยเพิ่มสัญชาตญานความเป็นแม่ จะส่งผลทำให้มดลูกหดตัวเช่นกัน 3). เทคนิคสำคัญสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือให้ลูกดูดเร็ว โดยให้ลูกดูดทันทีในห้องคลอด ดูดบ่อย
ทุก 2 - 3 ชั่วโมง ดูดถูกวิธี คือปากลูกงับให้ถึงลานนม สังเกตได้จากปากลูกจะบาน คางลูกแนบหน้าอกแม่ ดั้งจมูกชิด หรือเกือบชิดหน้าอกแม่ 4). เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก ไม่ต้องกินน้ำ หรืออาหารอื่น ทารกแรกเกิดทุกคนควรได้กินนมแม่อย่างเดียวไปจนอายุครบ 6 เดือน แล้ว จึงให้นมแม่ร่วมกับน้ำ และอาหารอื่นที่เหมาะสมตามวัย จนลูกอายุ 2 ปี หรือ นานกว่านั้น
โดยอาหารเสริมที่จัดให้ลูกควรเป็นอาหารที่ผลิตเองในครัวเรือน สำหรับการให้นมแม่โดยไม่ให้น้ำ ซึ่งขัดแย้งกับวิธีปฏิบัติของแม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น เหตุผลสำคัญที่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินน้ำ คือ ในนมแม่มีน้ำเป็นจำนวนมากพอที่เด็กต้องการ และ การให้เด็กกินน้ำหลังจากกินนมแม่จะลดสารต้านการอักเสบที่มีในนมแม่ เพราะน้ำจะไปล้างสารต้านการอักเสบที่ลูกได้รับ จากการกินนมแม่
ที่เคลือบในปากลูกหลังจากลูกกินนมแม่ 5). ไม่จำเป็นต้องเช็ดถู ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ลูกดูดนมแม่ แต่ควรจะดูว่าหัวนมตนเองมีขนาดสั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติ ขณะตั้งครรภ์ เพราะหัวนมที่สั้น ยาว หรือใหญ่กว่าปกติอาจทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ไม่ค่อยถนัด ทั้งนี้หากแม่มีความยาวหัวนมสั้นกว่าปกติ สามารถแก้ไขได้ขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้ลูกดูดนมแม่ได้ง่ายหลังคลอด (ความยาวหัวนมปกติ คือ
0.5 - 1 เซนติเมตร) 6). แม่ที่ติดเชื้อ HIV ไม่ควรให้ลูกกินนมแม่ เพื่อลดโอกาสการผ่านเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก 7). การใช้มือบีบน้ำนม
เก็บไว้ให้ลูก ดีกว่าใช้เครื่องปั๊มนม เพราะนอกจากจะสะดวก และ ประหยัดแล้ว การบีบน้ำนมด้วยมือ จะทำให้ได้ปริมาณน้ำนมที่มากกว่าการใช้เครื่องปั๊ม 8). โดยทั่วไปแม่ที่ให้ลูกดูดนมแม่ จะมีรูปร่างและน้ำหนักกลับมาเป็นปกติเหมือนตอนก่อนท้อง เมื่อลูกอายุ ประมาณ 6 เดือน ดังนั้น แม่ไม่จำเป็นต้องลดปริมาณอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก แต่หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่จะทำให้แม่อ้วนเท่านั้น ประโยชน์ต่อทารก มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะสมต่อการย่อยและการดูดซึมของลูก ทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกสมบูรณ์ ให้ภูมิต้านโรคแก่ลูก ทำให้ลูกไม่ค่อยเจ็บป่วย มีสารอาหารซึ่งทำให้ระบบที่สำคัญของร่างกาย เช่น สมอง ประสาท เจริญเติบโตสมบูรณ์ ทำให้สมองดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของลูก มีน้ำย่อยหลายชนิด บางชนิดช่วยย่อยนมแม่ บางชนิดเป็นตัวนำเกลือแร่ทำให้ดูดซึมได้ง่าย บางชนิดทำลายเชื้อโรค ซึ่งช่วยป้องกันโรคท้องร่วงได้ ทำให้ถ่ายสบาย อุจจาระไม่แข็ง นมแม่มีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์บุเนื้อเยื่อ ทำให้ผนังลำไส้เจริญเติบโตดี ป้องกันสารแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกายทางลำไส้ ป้องกันการแพ้โปรตีน และป้องกันภูมิแพ้ ประโยชน์ต่อแม่ มดลูกหดตัวกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น โอกาสในการตกเลือดน้อยลง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และภาวะกระดูกพรุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังลดน้ำหนักส่วนเกินที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้รูปร่างมีสัดส่วนเดิมเร็วขึ้น ประหยัดรายจ่ายในการซื้อและเตรียมนมผสม ประหยัดรายจ่ายจากค่ารักษาพยาบาลลูก ลูกแข็งแรงทำให้แม่ไม่ต้องลางานบ่อย และช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนออกซีโทซินและโปรแลคติน ซึ่งเป็นสารต้านความเครียด ทำให้แม่รู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี ช่วยเพิ่มความรัก ความผูกพันระหว่างแม่และลูก เป็นพื้นฐานของการสร้างบุคลิกภาพ และสุขภาพจิตที่ดี นพ.พิทยาฯ กล่าวต่อว่า นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก จึงอยากเชิญชวนคุณแม่แรกคลอดทุกท่านให้นมแม่อย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ร่วมกับอาหารอื่นจนถึงอายุ 2 ขวบ เพื่อลูกได้เริ่มต้นชีวิตสุขภาพดีทั้งกายและใจ “ นมแม่ คือ หลักชัย ปกป้องโรคภัย ตลอดชีวิต ( Breastfeeding : A Winning Goal-For Life! )”