นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 - 14 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 861 ราย
ใน 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 7 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงาน 25-54 ปี ผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง ถึง 5 เท่าตัว กว่าครึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมาคือรับจ้างทั่วไป เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า 3 ใน 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากร มากที่สุด อยู่ในภาคใต้ ได้แก่ สตูล ระนอง และยะลา ส่วนอีก 2 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ และในส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี 2557 (1 มกราคม – 31 กรกฎาคม) พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคฉี่หนู จำนวน 4 ราย ได้แก่ อำเภอมหาราช, อำเภอบางไทร, อำเภอท่าเรือ, อำเภออุทัย และไม่มีผู้เสียชีวิต ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค โรคฉี่หนู หรือ “เลปโตสไปโรสิส” เป็นโรคที่ติดต่อได้จากสัตว์สู่คนมีหนูเป็นพาหนะนำโรค
โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขังพื้นดินที่ชื้นแฉะ หากมีบาดแผล
มีรอยขีดข่วน รอยถลอกตามผิวหนังและย่ำน้ำไปโดนก็สามารถติดเชื้อได้ แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้น
เชื้อสามารถไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานได้อย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากนั้น
การรับประทานอาหารที่มีหนูมาฉี่รด ก็สามารถทำให้ติดโรคนี้ได้เช่นกัน เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
แล้วประมาณ 4 - 10 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขาหรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดินร่วมด้วย
การป้องกันโรคไข้ฉี่หนูในช่วงหน้าฝน ซึ่งบางพื้นที่อาจมีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม มีคำแนะนำดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ย่ำโคลนที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ที่มีปัญหาชาที่เท้า ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีแผลที่เท้าและไม่รู้สึกเจ็บ มีโอกาสเสี่ยง
ติดโรคสูง 2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายน้ำ ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบู๊ทยาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ 3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน 4. กำจัดขยะในบ้านเรือน สถานที่ทำงานให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร
เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู 5. ดื่มน้ำต้มสุกและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกร้อนใหม่ๆ
หากมีอาการสงสัยว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู ให้รีบพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้าน ทันที