อ่าน 2,852
อาเซียนมีความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข โดยดำเนินงานผ่านกลไกการประชุม ในระดับต่างๆ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน(ASEAN Health Ministers’ Meeting : AHMM) การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข (Senior Official’s Meeting on Health Development : ASEAN SOMHD) และการประชุมระดับคณะทำงาน /ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ รวม 10 ด้าน ได้แก่
1. โรคติดต่อ
2. ความปลอดภัยด้านอาหาร
3. ความร่วมมือด้านเทคนิคเกี่ยวกับยา
4. การเตรียมพร้อมและรับมือกับโรคระบาด
5. การควบคุมยาสูบ
6. เอดส์
7. สุขภาพจิต
8. สุขภาพแม่และเด็ก
9. โรคไม่ติดต่อ
10. การแพทย์ดั้งเดิม
การดำเนินงานด้านสาธารณสุขอาเซียนมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยประเทศไทยมีบทบาทนำที่แข็งขันในหลายด้านเช่น ด้านการเตรียมพร้อมและรับมือโรคระบาด โดยทำหน้าที่เป็นประธานและ “Coordinating Office” ของ “เครือข่ายฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม” ในกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (ASEAN+3)
ด้านสุขภาพจิต ไทยได้ริเริ่มให้มีการจัดประชุมคณะทำงานสุขภาพจิตขึ้นเป็นครั้งแรกในอาเซียน และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะทำงานสุขภาพจิตอาเซียน (ASEAN Task Force on Mental Health : AMT)
ด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง HIA เป็นครั้งแรกและด้านการควบคุมยาสูบ โดยไทยเป็นผู้เสนอและผลักดันแนวคิด “Towards Smoke Free ASEAN Campaign” เมื่อปี 2554 เป็นต้น
โดย กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2557
คำค้นหา