อ่าน 1,994
โอกาสและผลทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกได้รับจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ความสำเร็จในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนั้น การจะให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและสร้างขีดความสามารถของภูมิภาคได้ ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ อาทิ
1. โครงสร้างพื้นฐานภายในภูมิภาค ที่เน้นการพัฒนาการเชื่อมโยงถึงกันของระบบการขนส่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบุคลากรได้อย่างเสรี
2. นโยบายร่วมในระดับภูมิภาค ที่มุ่งเน้นพิจารณาถึงการกำหนดแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจร่วมกันใน ระดับภูมิภาค อีกทั้งประเทศสมาชิกต้องตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นของการปรับปรุง กฎเกณฑ์/กฎระเบียบ/กฎหมาย ให้สอดคล้องกับความตกลงต่าง ๆ
3. กลไกการตัดสินใจ มีกลไกการตัดสินใจแบบระบบฉันทามติ (consensus) ซึ่งในอนาคตอาจมีการเสนอให้นำเอาระบบเสียงส่วนใหญ่ (majority vote) มาใช้ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องคำนึงถึงการกำหนดแนวทางและขอบเขตให้มีความชัดเจนและ โปร่งใส
4. การสร้างสังคมกฎระเบียบ โดยมีความจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่สังคมกฎระเบียบ (Rule-based Society) พร้อมทั้งมีการกำหนดนโยบายการค้าการลงทุนที่มีความสอดคล้อง
นอกจากนี้ ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อผลการดำเนินงานคือความเป็นหนึ่งเดียวกันของ ประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วม โดยประเทศสมาชิกอาจต้องยอมสละผลประโยชน์ของประเทศตนเองบ้างนั่นเอง
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน จะนำไปสู่การขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี อีกทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนผ่านความร่วมมือต่าง ๆ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นสามารถแบ่งได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ
1. สร้างตลาดขนาดใหญ่ โดยเมื่อมีการรวมกลุ่มจะทำให้มีประชากรรวมกันมากกว่า 550 ล้านคน ทำให้ความน่าสนใจในการค้าและการลงในภายใน/ต่อภูมิภาคนี้มีความน่าดึงดูดมาก ขึ้น
2. ส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบ โดยเมื่อมีการรวมกลุ่มจะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในภูมิภาคได้มาก ขึ้น อีกทั้งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
3. เพิ่มอำนาจการต่อรอง โดยมีการรวมกลุ่มและใช้การสร้างท่าทีร่วมในระดับภูมิภาค สร้างพันธมิตรทางด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมการเป็นศุนย์กลางของอาเซียน
ภาครัฐไทยรับเอานโยบายที่เรียกว่า ASEAN First Policy หรือนโยบายอาเซียนต้องมาก่อน เป็นแนวทางในการดำเนินงานเนื่องจากการรวมตัวอย่างเข้มแข็งของอาเซียนจะช่วย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยรวมของอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทย ทั้งยังสามารถส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ และสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
1. การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วน โดยให้การส่งเสริมทั้งด้านการค้าและการลงทุนผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ประเด็นสำคัญคือการเปลี่ยนแนวคิดเดิมที่ว่าแต่ละประเทศเป็นคู่แข่งมาเป็นแนว คิดที่ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนโดยการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
2. การเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ เมื่อพิจารณาประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความหลากหลายและความพร้อมทางเศรษฐกิจ อันแตกต่างกันไป จึงสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละประเทศตามความเหมาะสม
3. การเป็นฐานการผลิตให้ภาคอุตสาหกรรม โดยควรพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมบางสาขาไปยังประเทศสมาชิก อื่น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
4. การเป็นตลาดที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 550 ล้านคน โดยมุ่งเน้นการรักษาตลาดดั้งเดิมให้มั่นคง และมุ่งขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมบางสาขาที่ยังไม่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันเพียง พอจะได้รับผลกระทบเชิงลบซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก อาทิ อุปสรรคทางการค้าและการลงทุนที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเข้าสู่ ตลาดได้ง่ายขึ้นและมีภาวะการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลบังคับให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีความพร้อมต้องออกจากตลาดไป ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีการเตรียมแผนที่รัดกุมเพื่อรองรับและลดผลกระทบในเชิงลบเหล่า นี้
โดย ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ
กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 27 เมษายน 2558
คำค้นหา