อ่าน 3,446
สหรัฐฯ ตั้งเป้าขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย
นางดวงกมล เจียมบุตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากการเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอุปทูต สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (Mr. Patrick Murphy) ซึ่งได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายด้าน โดยในด้านการค้าสหรัฐฯแจ้งว่าร่างกฎหมาย GSP ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคามที่ผ่านมา ขณะนี้รอรัฐสภาสหรัฐเห็นชอบ หากรัฐสภาสหรัฐฯ เห็นชอบก็จะทำให้ไทยส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ไปยังสหรัฐฯได้ต่อไปและเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม ถุงมือยาง ผลไม้ปรุงแต่ง เลนส์แว่นตา และชุดสายไฟ เป็นต้น
อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวว่าปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยรองจากจีนและญี่ปุ่น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2010 การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 35,560.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของไทยรองจากจีน ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐฯ มีบริษัทที่ทำการค้าในไทยประมาณ 500 บริษัท และยังอยากที่จะคงความสัมพันธ์ทางการค้าแบบนี้ต่อไป โดยตั้งเป้าหมายอยากที่จะขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 พร้อมทั้งจะขอให้ไทยเปืดตลาดเนื้อวัว เนื้อหมูติดกระดูก และผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ฝ่ายไทย โดย อย. และกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ OIE อยู่ เนื่องจากประเทศไทยเองก็ต้องคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไทยได้เชิญชวนนักธุรกิจสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าให้ ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 1 กับไทยตามที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าไว้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะหารือในรายละเอียดเรื่องต่าง ๆ เพื่อผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยในปี 2014 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 23,891.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.09 และสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 3 ของไทยรองจากจีนและญี่ปุ่น โดยไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14,579.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.34
ในแง่การลงทุนสหรัฐฯ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติลำดับที่ 4 ที่เข้ามาลงทุนในไทยรองจากญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และไต้หวัน มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับ BOI ในปี 2014 จำนวน 38 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 50,158 ล้านบาท ด้านการเมืองขณะนี้รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างการดำเนินงานตาม Roadmap ในระยะที่ 2 ที่มุ่งเน้นการตรวจสอบ ปฎิรูป และเร่งฟิ้นฟูประชาธิปไตยที่แท้จริงและเหมาะสมกับประเทศไทย ส่วนเรื่องการแก้ปัญหา TEER 3 และ IUU ยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และแรงงานที่ถูกบังคับ โดยกำหนดเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ และจะมุ่งมั่นเดินหน้าขจัดปัญหาให้หมด ซึ่งอุปทูตสหรัฐฯ ได้แสดงความชื่นชม
ส่วนการประชุมภายใต้กรอบความตกลงการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐ หรือที่เรียกว่า TIFA-JC เป็นเวทีสำคัญของทั้งสองฝ่ายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนให้เพิ่มขึ้น และหวังว่าจะมีการจัดประชุม TIFA -JC อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ อุปทูตสหรัฐฯ ยังได้เสนอข้อเสนอในการจัดทำแผนปฏิบัติการ และ Training Program ด้านทรัพย์สินทางปัญญากับไทยซึ่งจะได้หารือกันในระดับเจ้าหน้าที่ต่อไป
คำค้นหา