อ่าน 2,265
อนาคตแบงก์ไทยหลังเปิดเสรีอาเซียน
เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า การเปิดเสรีในภาคบริการยังไม่ได้เปิดไปพร้อมกับธุรกิจในสาขาอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจการเงินการธนาคารจัดเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่การเปิดเสรียัง เป็นไปอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ ในปี 2563 กำหนดให้ต้องมีการเจรจา Qualified ASEAN Bank (QAB) ซึ่งเป็นการจัดทำมาตรฐานของสถาบันการเงินร่วมกัน โดยจะเป็นการเจรจาระดับทวิภาคี เมื่อทั้งสองประเทศสามารถทำข้อตกลงและกำหนดมาตรฐานร่วมกันได้แล้ว สถาบันการเงินของทั้งสองประเทศที่เข้าข่ายมาตรฐานที่กำหนดจะสามารถเปิดเสรี ภายใต้การเจรจาร่วมกันได้ โดยจะเป็นข้อตกลงในลักษณะต่างตอบแทน เช่น อนุญาตให้ไปดำเนินการเปิดสาขาธนาคารได้ในทั้งสองประเทศ เป็นต้น
การทำ QAB จะเป็นจุดเริ่มต้นและทำให้ธุรกิจในภาคการเงิน การธนาคาร เข้าสู่การเปิดเสรีอาเซียนมากขึ้น ซึ่งในปี 2558 ตั้งเป้าทำให้มีการเจรจาเกิดขึ้นได้ 1 ฉบับ ซึ่งอาจจะเป็นการเจรจาระหว่างประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่ในปี 2561 ตั้งเป้าหมายให้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เจรจา QAB ให้สำเร็จประเทศละ 1 ฉบับ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละประเทศว่าต้องการจับคู่กับประเทศใด และในปี 2563 ตั้งเป้าหมายให้ทุกประเทศในอาเซียนรวมถึงกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และบรูไน สามารถสรุปการเจรจาและมีข้อตกลงได้ประเทศละ 1 ฉบับ ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายขั้นต่ำของอาเซียน 10 ประเทศ ที่จะมีข้อตกลง 10 ฉบับ
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลนำโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเจรจา ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่าจะเริ่มเจรจากับประเทศใด ขณะที่ในฝั่งของผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารต้องการจะเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่ม ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) เพราะมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก มีความต้องการใช้บริการทางการเงินในระดับสูง โดยการเปิดเสรีภายใต้ข้อตกลงนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาของภาครัฐว่าจะเปิดเสรี ในรูปแบบหรือด้านใดบ้าง ขณะเดียวกัน ประเทศไทยพยายามที่จะแก้ไขกฎระเบียบที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเปิดเสรีควบ คู่ไปด้วย ซึ่งไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีกฎระเบียบข้อบังคับมากที่สุด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามจะปลดล็อกกฎระเบียบหลายประการในช่วง 1-2 ปีจากนี้
โดยประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น การทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินต่างประเทศ การเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากแก้ไขแล้วจะเอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น สำหรับความพร้มของประเทศไทยในการเปิดเสรีนั้น หากเปรียบเทียบด้านความแข็งแกร่งของธนาคารไทยกับภูมิภาค ธนาคารไทยอยู่ในระดับที่ดีมีผลตอบแทนดี มีความมั่นคงอยู่ที่ระดับ 15% ใกล้เคียงกับสิงคโปร์ที่มีความมั่นคง 16%
ปัจจุบันบทบาทของธนาคารไทยที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการในยุคเออีซี คือ การช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปค้าขายลงทุนในต่างประเทศ และช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยแผนระยะสั้นจะสนับสนุนระบบการเงินในระบบดิจิทัล และสนับสนุนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจและส่งเสริม การท่องเที่ยว
ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 15 มิถุนายน 2558
คำค้นหา