อินโดนีเซียประกาศรับรองพื้นที่ปลูก “หอมแดง” จ.ศรีสะเกษ
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศอินโดนีเซียออกกฎกระทรวงที่เป็นอุปสรรคต่อสินค้าเกษตรจากไทยหลายฉบับ อาทิ กฎระเบียบควบคุมการนำเข้าสินค้าพืชสวน และการจำกัดจุดนำเข้าสินค้าผักและผลไม้สด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกหอมแดงไทยค่อนข้างมาก
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเ ยื่นเสนอพื้นที่ปลอดศัตรูพืชหรือ Pest Free Area (PFA) สำหรับหอมแดง เพื่อให้สามารถส่งออกหอมแดงเข้าไปได้ทุกด่านทั่วประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะด่านท่าเรือที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นด่านนำเข้าหลักของสินค้าจากไทยและประเทศต่าง ๆ
ภายหลังอินโดนีเซียส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงาน IAQA มาตรวจประเมินแปลงปลูกหอมแดง โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุหอมแดง 2 บริษัท ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ รวมทั้งดูงานห้องปฏิบัติการโรคพืชสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ปรากฏว่า IAQA มีความพอใจระบบการผลิตหอมแดงและระบบการควบคุมศัตรูพืชในหอมแดงของไทย
กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียจึงประกาศรับรองแหล่งปลูกหอมแดง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกัน 2 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าหอมแดงไปยังอินโดนีเซียโดยผ่านเข้าทางท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญของอินโดนีเซียได้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการขอขยายพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกันสำหรับหอมแดง (Country free) ให้ครอบคลุมแหล่งปลูกหอมแดงเพื่อการส่งออก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรมากขึ้น
ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษที่ได้รับการรับรองพื้นที่ปลอดศัตรูพืชกักกันจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียนี้มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่อำเภอราษีไศล ยางชุมน้อย ขุขันธ์ อุทุมพรพิสัย วังหิน และกันทรารมย์