รัฐบาลยืนยันอัตราการว่างงานของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
พล ตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับอัตราการว่างงานที่มีการกล่าวอ้างถึงการบริหาร เศรษฐกิจของรัฐบาล ว่ารัฐบาลนี้กำลังทำงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หลายประเทศได้รับผลกระทบ แต่เราสามารถรักษาระดับไม่ให้อัตราการว่างงานสูงเกินกว่าร้อยละ 1 มาตั้งแต่เริ่มเข้าบริหารประเทศ ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศ มีอัตราการว่างงานสูงกว่า เช่น ฝรั่งเศส ร้อยละ 10.4 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.4 เยอรมัน ร้อยละ 5.3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 4 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.8 มาเลเซีย ร้อยละ 3.2 อินโดนีเซีย ร้อยละ 6.3 เป็นต้น
"อัตรา การว่างงานที่ต่ำ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ละเลยที่จะดูแลผู้ว่างงาน ด้วยการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ ทั้งการเปิด Smart Job Center ที่ปัจจุบันได้เพิ่ม Smart Training Center เข้าไปด้วย เพื่อให้ความรู้และฝึกวิชาชีพแก่ประชาชน โดยในปี 58 สามารถบรรจุงานได้ถึง 446,618 คน เฉพาะเดือน ม.ค.-ก.พ.59 บรรจุงานได้ 67,361 คน”
พลตรี สรรเสริญ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่มีผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคมใน เดือน ก.พ.59 จำนวน 123,087 คนนั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมพบว่า เดือน ก.พ. 59 มีผู้ประกันตนทำงานในสถานประกอบการ (ม.33) จำนวน 10,348,753 คน เมื่อเปรียบเทียบกับ ก.พ. 58 (ผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 10,057,328 คน) จึงแสดงว่า มีผู้ใช้แรงงานเข้าสู่การทำงานเพิ่มขึ้นถึง 291,425 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ผู้ว่างงานในระบบประกันสังคมจะออกไปประกอบอาชีพอิสระ เช่น เป็นผู้ประกอบการ SMEs จากการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งจากตัวเลขยอดค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ในปี 58 มีถึง 100,919 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อกว่า 74,000 ราย
ส่วน ความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. มีจำนวน 43,019 อัตรา โดย 5 ตำแหน่งงานที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1) ตำแหน่งงานการผลิต 2) การขายส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์ 3) กิจการโรงแรมและอาหาร 4) ก่อสร้าง 5) การสื่อสารและข่าวสาร
"ท่าน นายกฯ ฝากไปยังพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะการดูแลปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากภายนอก ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน พร้อมทั้งยังได้กำชับไปยังหน่วยงานของรัฐที่ให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจแก่สังคม จะต้องสื่อความให้รอบด้าน โดยอธิบายถึงสาเหตุของปัญหา ข้อมูลที่ถูกต้อง แนวทางการแก้ไข และที่สำคัญจะต้องไม่บั่นทอนความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาของประชาชนและนัก ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”