หมอใหญ่กรุงเก่า : กำชับประชาชนเฝ้าระวัง “โรคมือเท้าปาก” ในเด็กเล็กเว็บไซต์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ภาพ logo website จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หมอใหญ่กรุงเก่า : กำชับประชาชนเฝ้าระวัง “โรคมือเท้าปาก” ในเด็กเล็ก

ผู้เขียน:  พัชรี วงษ์บัวทอง จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เมื่อวันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 13:59 น.

 อ่าน 2,629

นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข
ได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อในเด็กเล็กที่พบมากในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศเย็นและชื้น  โดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็ก  รวมทั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษาอย่างเข้มงวด  เพราะหากมีเด็กป่วยอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปยังเด็กคนอื่นได้ง่าย        

          โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัส พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี
จากสถิติ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  พบว่าตั้งแต่ 1 มกราคม – 22 มิถุนายน 2557 มีผู้ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก 19,763 ราย แต่ยังไม่เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ เด็กอายุ
1 ขวบ พบร้อยละ 32.42 รองลงมาคือ อายุ 2 ขวบ พบร้อยละ 25.85 และ 3 ขวบ พบร้อยละ 15.28  อาการของโรคมือเท้าปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย  มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก  มักพบที่ลิ้น
เหงือก และกระพุ้งแก้มทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร  มักเกิดผื่นแดงซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ
สีแดงที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ซึ่งตุ่มนี้มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ  อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน ๗ - ๑๐ วัน

          การแพร่ติดต่อของโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อเข้าสู่ปากโดยตรง  ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย   โดยเชื้ออาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย  น้ำมูก  น้ำจากตุ่มพอง 
จากแผลหรืออาจเกิดจากการไอจามรดกัน  ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ ๑ เดือน
จะพบเชื้อในอุจจาระได้แต่การติดต่อในระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่าในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน  แต่เชื้อไวรัสบางชนิดอาจทำให้มีอาการรุนแรงได้  ผู้ปกครอง
หรือผู้ดูแลเด็กควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหารและน้ำดื่ม
อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง  อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ  หรือน้ำท่วมปอด
อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

          โรคมือเท้าปากนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครอง ครู หรือ
ผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก  ควรแนะนำและดูแลเด็กให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ
ด้วยน้ำและสบู่   โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร  รวมทั้งการใช้ช้อนกลางและหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น  สำหรับโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก  ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้
ให้สะอาดอยู่เสมอ  หากพบเด็กป่วยหรือสงสัยจะป่วยเป็นโรคมือเท้าปากในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก
ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง

          นพ.พิทยาฯ  กล่าวต่อว่า ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้  มีความเหมาะสม
ต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี  จึงฝากเตือนผู้ปกครองรวมถึงครูหรือผู้ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก  ให้หมั่นสังเกตอาการของเด็กว่ามีอาการดังที่กล่าวมาหรือไม่  หากมีควรให้เด็กหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ ๑  สัปดาห์หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ  หากมีอาการรุนแรงต้องรีบพาไปโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใกล้บ้านทันที


คำค้นหา
 
comments powered by Disqus
ข่าวในประเภทประชาสัมพันธ์
ข่าวโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าวล่าสุด
สนใจมากสุดในรอบเดือน
เข้าชมล่าสุด