นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก
ได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก”
การสูบบุหรี่ถือเป็นการทำลายสุขภาพทั้งต่อผู้สูบเอง และผู้อยู่ใกล้ชิดหรือผู้สูบบุหรี่มือสอง
ที่สูดเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
และมีสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 60 ชนิด โดยเฉพาะ คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับออกซิเจนได้เท่ากับเวลาปกติ หากได้รับจะทำให้เกิดการขาดออกซิเจน ทำให้มึนงง ตัดสินใจช้า เหนื่อยง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ นิโคติน เป็นสารระเหยในควันบุหรี่มีฤทธิ์
กดประสาทส่วนกลาง มีผลต่อต่อมหมวกไตทำให้เกิดการหลั่งอิพิเนฟริน ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติและไม่เป็นจังหวะ หลอดเลือดที่แขนและขาหดตัว เพิ่มไขมันในเส้นเลือด
ทาร์หรือน้ำมันดิน เป็นคราบมันข้นเหนียว สีน้ำตาลแก่ เกิดจากการเผาไหม้ของกระดาษและใบยาสูบ เป็นสารก่อมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด, กล่องเสียง, หลอดลม, หลอดอาหาร, ไต, กระเพาะปัสสาวะ ร้อยละ 50 ของน้ำมันดินหรือทาร์จะไปจับที่ปอดเกิดการระคายเคืองทำให้ไอเรื้อรังมีเสมหะ
จนในที่สุดถุงลมปอดโป่งพอง ไม่สามารถหดตัวกลับได้ มีผลทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยน
ก๊าซออกซิเจนได้มากเท่าเดิม จึงทำให้หายใจขัด หอบ หากเป็นเรื้อรังอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้
นพ.พิทยา กล่าวต่อว่า การสูบบุหรี่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อผู้สูบเองแล้วยังเป็นอันตรายต่อผู้ใกล้ชิด หากเด็กได้รับควันบุหรี่จะป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูชั้นนอกอักเสบเพิ่มมากขึ้น หากหญิงมีครรภ์ได้รับควันบุหรี่จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มน้อยกว่าปกติ รวมทั้ง
มีโอกาสแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่อาจทำให้สมอง
มีพัฒนาการช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติทางระบบประสาทและระบบความจำ ขณะที่คู่สมรส
ของผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า และมีความเสี่ยง
ที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า รวมทั้งเสียชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไปถึง 4 ปี … ฉะนั้นเราลองหันมาเลิกสูบบุหรี่
กันดีกว่าเพื่อสุขภาพของคุณเองรวมทั้งคนที่คุณรักด้วย