อ่าน 9,363
ผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การเปิดเสรีการค้าตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลเช่นเดียวกับภาคเกษตร กล่าวคือ การลดและยกเลิกภาษี ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ ยกเลิกภาษีสินค้าภายในปี พ.ศ.2550 แบ่งเป็น สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งดำเนินการขจัดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งกำหนดเป็นระยะเวลาต่างๆ กันสำหรับแต่ละกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้ง ยังมีการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ ความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ACIA) โดยมีการคุ้มครองการลงทุนในภาคการผลิต และเหมืองแร่ รวมทั้งการลงทุนโดยตรง
ภายใต้ AFTA อาเซียนได้ส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอย่างต่อ เนื่อง และได้จัดตั้ง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation Scheme: AICO) เพื่อสร้างแรงจูงใจด้านภาษีและศุลกากรสำหรับภาคเอกชนที่มีการลงทุนร่วมกัน ภายในอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ.2556 เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศบริเวณพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศ เพื่อนบ้านด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงกับแนวเส้นทาง เศรษฐกิจ (Economic Corridor) พื้นที่ชายแดน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในภาคเหนือ พื้นที่ชายแดนจังหวัดมุกดาหาร นครพนมและหนองคาย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ชายแดนจังหวัดสระแก้วในภาคตะวันออก พื้นที่ชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี ในภาคตะวันตก และพื้นที่ชายแดนอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และพื้นที่ชายแดนจังหวัดนราธิวาส ในภาคใต้
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่
1.การเร่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ โดยที่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะกระตุ้น ให้กลุ่มประเทศสมาชิกอา เซียน โดยเฉพาะเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งยังมีรายได้ต่ำ มุ่งเน้นที่จะใช้ความได้เปรียบจากความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศและหากกลุ่มประเทศอาเซียนไม่มีมาตรการ ควบคุมดูแลการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอและเสื่อมโทรมลง
2.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่กระจุกตัวในบริเวณ หนึ่ง ๆ ซึ่งมีการปล่อยมลพิษโดยรวมมากเกินขีดความสามารถในการรับรองของพื้นที่ดังเช่น กรณีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของไทย (Eastern Seaboard) บริเวณมาบตาพุดที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชุมชนบริเวณ ใกล้เคียงระยะต่อมา
โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 15 พฤษภาคม 2558
คำค้นหา