อ่าน 2,689
ไทย จีนและเมียนมาจะร่วมกันพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ"มายตง"
นาย ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยกับเมียนมา ว่า ภายในสิ้นปี 2558 นี้ จะลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย จีนและเมียนมา ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ บนแม่น้ำสาละวินตอนบน คือโครงการมายตงขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ได้ หลังจากที่ทางเมียนมามีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท่าซางที่อยู่ใน บริเวณใกล้เคียงกันออกไป โดยโครงการมายตงฝ่ายไทยจะให้ทาง บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ อีแกตไอ เป็นผู้ดำเนินการลงทุน ในขณะที่ฝ่ายจีน คือ บริษัท Three Gorges Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่เป็นผู้ลงทุน โดยถือหุ้นร่วมกันฝ่ายละ 40% ในขณะที่รัฐบาลของเมียนมาจะถือหุ้น 20%
คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี นับจากวันที่มีการลงนามในสัญญาร่วมกัน โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงแรกประมาณ 700 เมกะวัตต์ จะส่งให้กับทางเมียนมาที่ยังคงมีความขาดแคลนในเรื่องของไฟฟ้าอยู่ ส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 6,300 เมกะวัตต์ จะขายกลับมายังประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ในแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายณรงค์ชัย พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางไปลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องพลังงานกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงไฟฟ้าเมียนมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมียนมา ที่กรุงเนปิดอว์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อมูลด้านนโยบายพลังงานที่ จะก่อให้เกิดประโยชน์และเพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างกันของทั้ง 2 ประเทศ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน
โดยเอ็มโอยูจำนวน 2 ฉบับนั้น ฉบับที่ 1 เป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยและกระทรวงพลังงานเมียนมาว่า ด้วยเรื่องพลังงาน โดยขอบเขตความร่วมมือคือ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันด้านปิโตรเลียมต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น การพัฒนาท่อส่งก๊าซในประเทศและข้ามชายแดน การสำรวจและผลิต การพัฒนาขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) การปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมัน และการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าปิโตรเคมีที่มีความเป็นไปได้ร่วมกัน
และสำหรับฉบับที่ 2 บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยและกระทรวงไฟฟ้าเมียนมา ว่าด้วยเรื่องพลังงานไฟฟ้า โดยขอบเขตความร่วมมือคือ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือกันด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำและอื่น ๆ ระบบส่งและระบบจ่ายไฟฟ้า และขยายความร่วมมือด้านการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่และความตกลงทวิภาคีที่ทำก่อน หน้านี้ โดยมุ่งสนับสนุนความต้องการไฟฟ้าภายในเมียนมาเป็นลำดับแรก รวมถึงการส่งเสริมการค้าและการเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องนำไปสู่ความสำเร็จในข้อตกลงเรื่องของโครงการมายตง
คำค้นหา