นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เนื่องจากในขณะนี้
เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด โรคที่มีแนวโน้ม
ระบาดในช่วงฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ จากรายงานข้อมูลการเฝ้าระวังของ กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 1 มกราคม – 27 กันยายน 2558 มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ 49,326 ราย เสียชีวิต 24 ราย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคกลาง รองลงมาคือภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ แม้ว่าในบางพื้นที่สภาพอากาศจะมีฝนตกไม่มากนัก แต่พบว่าสภาพอากาศในช่วงเวลา
ของแต่ละวัน มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ในช่วงเช้าสภาพอากาศค่อนข้างเย็นมีฝนตกหนัก
แต่ในขณะเดียวกันในช่วงกลางวันอุณหภูมิค่อนข้างร้อน ซึ่งส่งผลกระทบทำให้อุณหภูมิในร่างกาย
มีความแตกต่างกันไปด้วย ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อ Influenza Virus เป็นการติดเชื้อ
ระบบทางเดินหายใจ พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน
แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนมา 2-3 วัน โดยไม่มีอาการอย่างอื่นชัดเจน
ว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบางครั้งเชื้ออาจจะลามเข้าปอดทำให้เกิดปอดบวม ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ
ปวดตามตัว ปวดกล้ามเนื้อมาก การติดต่อ เชื้อไข้หวัดใหญ่นี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อได้ง่ายโดยทางเดินหายใจ จากการไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางปากและเยื่อบุตา สัมผัสเสมหะ
ของผู้ป่วยทางแก้วน้ำ ผ้า จูบ สัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ระยะเวลาที่ติดต่อคนอื่นคือ 1 วัน
ก่อนเกิดอาการ 5 วันหลังจากมีอาการ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการ
ไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขนต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
เบื่ออาหาร ขมในคอ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ ไอแห้งๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายอาจไม่มีอาการคัดจมูก
หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่าไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก
ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วัน แล้วค่อยๆ ลดลง อาการไอและอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์
แม้ว่าอาการอื่นๆ จะหายลงแล้ว บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการเวียนศีรษะ เมารถ
เมาเรือเนื่องจากการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นในซึ่งมักจะหายเองใน 3-5 วัน นพ.พิทยาฯกล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไอ จาม ปิดปาก
หมั่นออกกําลังกาย” และหากพบว่าตนเองหรือคนในบ้านมีอาการสงสัยว่าป่วยให้รีบพบแพทย์
ในสถานบริการใกล้บ้าน เพื่อทําการวินิจฉัยและรับการรักษาทันท่วงที
งานประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร ๐ – ๓๕๒๔ - ๑๕๒๐ ต่อ ๑๑๐