นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เป็นที่รับรู้กัน
ทั่วโลกว่าในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันแห่งความรัก ซึ่งในช่วงเทศกาลนี้คู่รักวัยรุ่นมักใช้แสดงความรัก
ต่อคู่รัก แฟน หรือคู่ฉาบฉวย บางส่วนจะแสดงออกโดยการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และในวันนี้ยังเป็นวันรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีคำขวัญว่า “รักอย่างปลอดภัย คนไทยรุ่นใหม่ พกถุงยางไว้ ไม่ตกเทรนด์”
จากสถานการณ์ที่วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น อีกทั้งอายุของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกน้อยลงเรื่อยๆ
ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรอาจมาจากหลายปัจจัย ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเยาวชน
ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งนั่นหมายถึงเยาวชนย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดกามโรค ได้แก่ ซิฟิลิส หนองในแท้
หนองในเทียม แผลริมอ่อน แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ รวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งได้แก่ เริม หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก โลน หิด พยาธิช่องคลอด เชื้อราในช่องคลอด อุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากโชคร้ายอาจติดโรคเอดส์ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
จากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ โรคหนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลืองทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 35.89 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2552 เพิ่มเป็น 52.69 ต่อแสนประชากร ในปี 2557 และ
ในช่วงรอบ 10 ปีตั้งแต่ปี 2548-2557 วัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ติดกามโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เกือบ 5 เท่าตัว
จาก 7.53 เป็น 34.50 ต่อประชากรแสน ในกลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเช่นกัน จาก 26.66
เป็น 42.73 ต่อประชากรแสน คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 2 กลุ่มอายุนี้
รวม 21,137 คน เหตุเนื่องจากใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง ผลสำรวจในปี 2556 วัยรุ่นชายใช้เพียงร้อยละ 36.2
วัยรุ่นหญิงใช้ร้อยละ 27.9 ขณะที่ในปี 2553 ผู้ชายใช้ร้อยละ 43.3 ผู้หญิงใช้ร้อยละ 30.7 นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มเยาวชน มีแนวโน้มอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หนองใน, หนองในเทียม, ซิฟิลิส, กามโรค
ของต่อมและท่อน้ำเหลือง และแผลริมอ่อน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเยาวชนและอยู่ในวัยเรียน ซึ่งการติดเชื้อโรคดังกล่าวทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าคนปกติ 3 – 4 เท่า เมื่อจำแนกการใช้ถุงยางอนามัย
เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเยาวชนเพศชาย มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัย ประมาณร้อยละ 51.1
นพ.พิทยา ไพบูลย์ศิริ กล่าวต่อว่า เพื่อความปลอดภัยของตนเองและคู่รัก หากต้องมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เสี่ยง
ต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอื่นๆ
ตามมาอีกมากมาย เยาวชนควรยึดหลัก “รักอย่างปลอดภัย คนไทยรุ่นใหม่ พกถุงยางไว้ ไม่ตกเทรนด์” คือ
- รู้วิธีการปฏิเสธ หรือต่อรอง เมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ - มีทัศนคติที่ดีต่อถุงยางอนามัยในเรื่องของการป้องกันโรค และถ้าไม่ใช้จะถือว่าประมาท - มีการเตรียมตัว พกถุงยางอนามัยไว้เสมอ และสามารถใช้ได้อย่างถูกวิธี - มีความรับผิดชอบต่อตนเองและคู่เพศสัมพันธ์ โดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะใครๆก็เสี่ยงติดเชื้อโรคติอต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์
ท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าเยาวชนจะยึดหลัก “รักอย่างปลอดภัย คนไทยรุ่นใหม่ พกถุงยางไว้ ไม่ตกเทรนด์”
เพื่อป้องกันตนเองและคู่รักให้ปลอดภัยแล้วก็ตามแต่ใช่ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีการป้องกันการติดโรคติดต่อ
ทางเพศสัมพันธ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ที่ดีที่สุดคือ “การไม่มีเพศสัมพันธ์” นั่นเอง