ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน 15-19 ก.พ.นี้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 2 (2nd ASEAN Conference on Bio diversity : ACB 2016) ระหว่างวันที่ 15-19 ก.พ. 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 400 คน จากตัวแทนประเทศสมาชิกอาเชียน และประเทศคู่เจรจาอาเซียน+ 3 คือ จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศคู่เจรจาอาเซียน +6 ที่เพิ่ม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย นอกจากนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากประเทศคู่เจรจาด้วย
การประชุมครั้งนี้ อยู่ภายใต้แนวคิด "ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน : Bio diversity for Sustainable Development" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ หารือ ติดตามกรอบการดำเนินงาน ทบทวนปัญหาอุปสรรคและทิศทางของแผนการดำเนินงานและโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่เป็นความท้าทายในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน เช่น ธุรกิจกับความหลากหลายทางชีวภาพ, การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ , วาระแห่งอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ, กลไกทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ, การบูรณาการเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเกษตร ป่าไม้ ประมง และภาคส่วนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว เหมืองแร่ อุตสาหกรรม และภาคส่วนที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น
ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยจะผลักดันและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ในเรื่องการจัดการพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดน การจัดการพืชป่า สัตว์ป่า ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ประเด็นอุบัติใหม่ เช่น โรคติดต่อข้ามพรมแดน
นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เป้าหมายหลักของการประชุม คือ ลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและบริโภค ที่ทำการเกษตรแบบมุ่งเน้นการค้า มีการผลิตสายพันธุ์เดียวโดยละทิ้งสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม มีการใช้สารเคมีมากขึ้นในการเกษตร การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์นานาพันธุ์ เช่น การทำลายป่า การล่าสัตว์ การอพยพหนีภัยธรรมชาติของสัตว์ รวมทั้งมีการนำทรัพยากรธรรมชาติไปใช้ประโยชน์มากเกินไป และการตักตวงผลประโยชน์จากชนิดพันธุ์ของพืชและสัตว์ป่า เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า