บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำจับมือรัฐบาลไทยต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
นาง อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ นาย Kyoichi TANADA จากบริษัท Toyota Motor นาย Takashi KIKUCHI จาก Isuzu Mr.Kazutaka NAMBU จาก Nissan นาย Noriaki ABE จาก Honda เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ตามกำหนดการ"Prime Minister meet CEOs” ครั้งที่ 2 การพบหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าการลงทุน การส่งออกและการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ภาย หลังการหารือ พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในนามของรัฐบาลไทย เพื่อขอบคุณ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่ไม่เคยทอดทิ้งประเทศไทย โดยที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเพื่อให้การ ดำเนินธุรกิจและการลงทุนในไทยเป็นไปอย่างราบรื่นและขอให้ยังคงรักษาฐานการ ผลิตในไทยต่อไป หากมีปัญหาหรืออุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขอให้แจ้งเพื่อจะนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขอย่างเหมาะสม พร้อมย้ำนโยบายของรัฐบาลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานแบบ Eco Car รถยนต์ Hybrid ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ รวมถึง รถยนต์ไฮโดรเยนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับรถยนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซ co2 และรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเอธานอลและไบโอดีเซล ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนความต้องการใช้พืชพลังงานชนิดอื่นๆ อาทิ ปาล์มและอ้อย ในประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จาก ญี่ปุ่นกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัทในประเทศไทย รวมถึง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำมาปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ได้แก่ Toyota Isuzu Nissan Honda ต่างกล่าวถึงแผนการและเป้าหมายในอนาคตที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยสำหรับหลายบริษัทแล้ว ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดรองจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถรุ่นใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ บริษัทTOYOTA มีแผนที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถ Hybrid ซึ่งจะเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับการพัฒนายานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงในอนาคตที่ จะขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าและเซลล์พลังงาน
สำหรับ บริษัท ISUZU มีแผนที่จะต่อยอดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรถกระบะ Hybrid รวมทั้งจะมีการใช้ผลิตผลทางเกษตรส่วนเกินที่มีอยู่ในการผลิตน้ำมัน BIO-DIESEL
บริษัท NISSAN นับเป็นบริษัทแรกๆ ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electronic Vehicles - EV) และมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้าเพื่อการส่งออก ในขณะที่ บริษัท HONDA ต้องการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานในการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนารถยนต์ พร้อมแสดงความขอบคุณรัฐบาลที่ได้ปรับแก้กฎหมาย ที่ช่วยให้การนำเข้าส่งออกรถต้นแบบไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาต่ำลงและมีการผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพ สูงขึ้น รวมทั้ง ยังช่วยสนับสนุนไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ด้วย
นายก รัฐมนตรีกล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) ซึ่งข้อเสนอแนวทางการพัฒนายานยนต์ของค่ายรถยนต์ทุกค่ายสอดคล้องกับแนวนโยบาย ของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และสามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ไทยยินดีที่จะเห็นการลงทุนเพิ่มเติมของกลุ่มยานยนต์ในประเทศไทย ทั้งการเปิดโรงงาน การเปิดศูนย์ทดสอบ แต่ขอให้กลุ่มขยายการผลิตโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสูง และถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยและ SMEs ไทยมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่ต้องการให้อุตสาหกรรมใหญ่ๆ เป็นพี่เลี้ยงให้กับ SMEs ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ โรงงานผลิตแบตเตอรี่
นอก จากนี้ นายกรัฐมนตรียังเคยหารือกับนายกรัฐมนตรีอาเบะ เกี่ยวกับการที่ไทยพร้อมที่จะเปิดศูนย์ทดสอบรถยนต์ต้นแบบบางชนิดให้กับ ญี่ปุ่น อาทิ การรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งไม่สามารถทำการทดสอบที่ญี่ปุ่นได้
ใน แง่การส่งออก ประเทศไทยพร้อมเป็น hub ในการกระจายสินค้า ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลกำลังเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรีกับตลาดใหม่ อาทิ รัสเซีย กลุ่มประเทศยูเรเซีย ตะวันออกกลาง ประเทศในแถบแอฟริกา ตลอดจน ประเทศหมู่เกาะ และกำลังพิจารณาการเข้าร่วมความตกลง TPP ซึ่งทั้งหมดนี้ จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานในการส่งออกด้วย
สำหรับ ประเด็นอื่นๆ ที่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีความกังวล อาทิ ปัญหาเรื่องการขนส่งรถจากลานจอดรถในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไปยังท่าเรือ การเสนอให้ปรับความสูงของรถบรรทุกรถยนต์ การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการซื้อรถ Pick-Up ของราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาและความกังวลเหล่านี้โดยเร็วที่สุด